มาวางโครงเรื่องเขียนนิยายกัน
นักเขียนมือใหม่ชาวธัญวลัยที่รัก เคยประสบปัญหาแบบนี้กันไหมคะ อยากจะแต่งนิยายสักเรื่อง รู้สไตล์ของตัวเองแล้ว มีไอเดียแล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง วันนี้ธัญวลัยมีบทความดีๆ มาบอกค่ะว่า ก่อนจะเริ่มเขียนนิยาย เราควรทำอย่างไรก่อน
ก่อนอื่นนะคะ นิยายที่ดีควรมีรากฐานมั่นคง และรากฐานที่มั่นคงของนิยายก็คือโครงเรื่องนั่นเอง หากเรามีไอเดียจะเขียนนิยายสักเรื่อง แรกเริ่มเลย เราจึงควรเขียนร่างข้อมูลคร่าวๆ ของนิยายของเราเสียก่อน เพื่อกำหนดทิศทางให้เรื่องไม่สะเปะสะปะ ซึ่งขอแนะนำว่า ให้หาสมุด หรือกระดาษมาสักหนึ่งแผ่นแล้วช็อตโน้ตเอาไว้ค่ะ ข้อมูลที่ควรมี ได้แก่
1.ชื่อเรื่อง ชื่ออะไรดีนะ
ชื่อเรื่องนี้อาจใส่เลย หรือเว้นไว้คิดทีหลังก็ได้ค่ะ ชื่อเรื่องควรจะใช้ชื่อที่น่าสนใจ ชวนติดตาม และบ่งบอกถึงความเป็นนิยายเรื่องนั้นได้ดี อาจใช้คำที่มีความหมายเป็นนัยยะ หรือการใช้คำคล้องจองเพื่อให้ชื่อติดหูผู้อ่าน เช่น
วิวาห์วุ่นลุ้นรัก >>http://www.tunwalai.com/story/97411
เสือสิ้นลาย >>http://www.tunwalai.com/story/78072
2.กำหนดหมวดหมู่ให้นิยาย
ก่อนแต่งเราควรมากำหนดหมวดหมู่นิยายก่อน อยากแต่งแนวไหน ถนัดแต่งแนวไหนก็จัดไปเลย ไม่ว่าจะเป็น รักวัยรุ่น แฟนตาซี นิยายวาย สืบสวน สยองขวัญ ดราม่า หรือบางครั้งนิยายของเราอาจรวมหลายหมวดเข้าด้วยกันก็ได้ เช่น
วายแฟนตาซี ตัวอย่าง Tarianaโรงเรียนหารัก >>http://www.tunwalai.com/story/76848
ชีวิตรักดราม่า ตัวอย่าง มลทินหัวใจ>>http://www.tunwalai.com/story/102798
แฟนตาซีสืบสวน ตัวอย่าง Amaya Carlins Darkest Tale : The Rough Nights In My Book >>http://www.tunwalai.com/story/40021
3.คิดธีมของเรื่องด้วยนะจ๊ะ
แน่นอนว่านิยายที่ดีทุกเรื่องต้องมีธีม แล้วรู้หรือไม่ ว่าธีมคืออะไร... ธีม หรือ เราอาจเรียกว่า แก่นเรื่อง คือ สิ่งที่จะบอกว่านิยายของเราต้องการจะสื่ออะไรถึงผู้อ่าน หรือผู้อ่านจะได้ประเด็นอะไรจากนิยายของเรา นอกจากความสนุก ความฟิน โรแมนติก เช่น
ประเด็น ของเรื่อง บ้านทรายทอง คือ ความดีมีค่ามากกว่าชนชั้นและฐานะทางสังคม
ประเด็นของเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ คือ การยอมรับความเป็นจริงว่าทุกชีวิตต้องตาย
4.โครงเรื่องดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
โครงเรื่อง... หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า โครงเรื่อง คืออะไร โครงเรื่องหรือภาษาอังกฤษก็คือ พล็อต (Plot) เป็นสิ่งที่เราต้องบอกให้ได้ว่า นิยายของเราเกี่ยวกับอะไร ด้วยคำอธิบายได้ใจความ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม เพื่ออะไร เช่น
โครงเรื่องของ บ้านทรายทอง คือ ตัวเอกของเรื่องขัดแย้งกับญาติด้วยปัญหาทรัพย์มรดก
โครงเรื่องของ แฮรี่ พอตเตอร์ คือ การผจญภัยในโรงเรียนเวทมนตร์ของตัวเอกที่เพิ่งได้รู้ว่าตัวเองเป็นพ่อมดเเละต้องต่อสู้กับศาสตร์มืด
ซึ่งทั้งนี้ โครงเรื่อง อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ โครงเรื่องหลัก และโครงเรื่องรอง
โครงเรื่องหลัก คือ เป็นโครงเรื่องใหญ่โดยรวมของเรื่อง แต่ภายในเรื่องอาจมีปมประเด็นย่อยแตกออกมาอีก นั่นก็คือ โครงเรื่องย่อย ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขยายให้โครงเรื่องหลักเด่นขึ้น เช่น
บ้านทรายทอง
โครงเรื่องหลัก ตัวเอกของเรื่องขัดแย้งกับญาติด้วยปัญหาทรัพย์มรดก
โครงเรื่องรอง ความรักระหว่างตัวเอกที่มีฐานะยากจน กับ คุณชายที่ร่ำรวยและมีหน้ามีตาในสังคม
5.ฉากไหนดี
อีกสิ่งที่เราต้องกำหนดคือ ฉาก เพื่อให้เราได้ทราบว่านิยายของเราจะดำเนินเรื่องอยู่ ณ สถานที่แบบไหน กรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เหตุผลที่เราต้องกำหนดฉากเอาไว้ ก็เพื่อให้เราคำนึงถึงความสมเหตุสมผล เช่น ถ้าฉากเป็นประเทศไทย ดังนั้นในเรื่องจะต้องไม่มีเหตุการณ์หิมะตก หรือพายุทะเลทรายเข้า นอกจากจะเป็นแนวแฟนตาซี
6.ตัวละครต้องเริด
ตัวละครจะแบ่งเป็น...
ตัวละครหลัก ซึ่งเป็นตัวเอกผู้ดำเนินเรื่อง กำหนดอุปนิสัย บุคลิกตัวละคร ให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของตัวละคร เช่น พจมาน ตัวเอกเรื่องบ้านทรายทองเป็นเด็กจากต่างจังหวัด ที่ถูกเลี้ยงดูมาในสังคมไร้การแก่งแย่งชิงดี พึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นคนจิตใจดี ชอบช่วยคนอื่น เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดตัวละคร ต้องคำนึงถึงฉากด้วย เช่น ฉากของเราเป็นต่างประเทศ แต่ตัวเอกก็ควรเป็นคนต่างชาติที่ไม่รู้วัฒนธรรมไทย หรือถ้ากำหนดให้เป็นคนไทย แต่ฉากอยู่ต่างประเทศ ก็ควรให้เหตุผลที่สมเหตุสมผล
ตัวละครรอง ตัวละครประกอบที่ช่วยให้เรื่องดำเนินไปที่ปลายทางได้ หรือช่วยเสริมให้ตัวละครหลัก และนิยายดูมีมิติมากขึ้น เช่น คุณหญิงเล็ก ที่เป็นคนเห็นแก่ตัว ขี้อิจฉา หยิ่งยะโส เพราะถูกเลี้ยงดูตามใจ ซึ่งบทของตัวละครตัวนี้ช่วยเสริมให้เห็นถึงความเป็นคนจิตใจดีของพจมาน
7.มาร่างแผนโครงเรื่องกันเลย
เมื่อเรามีโครงเรื่องหลักแล้ว คราวนี้มาลงรายละเอียดกันว่ารูปแบบของการเขียนโครงเรื่อง ควรมีอะไรบ้าง เราสามารถแบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้
7.1 จุดเริ่มเรื่อง
เกริ่นนำเป็นการปูเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครและสถานการณ์ขณะนั้นในนิยาย เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวขั้นต่อไป เช่น แฮรี่ เป็นเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับลุงและป้า แต่มักมีเหตุการณ์ประหลาดที่หาเหตุผลไม่ได้เข้ามาพัวพันเสมอ และได้รู้ว่าจริงๆ แล้วตนเป็นพ่อมด จึงถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนเวทมนตร์
7.2 จุดเริ่มของปัญหา
เป็นการนำเข้าสู่ปมปัญหาของเรื่องที่ผูกเอาไว้ให้ตัวละครแก้ เช่น แฮรี่เข้าไปพัวพันกับการต่อสู้กับศาสตร์มืด
7.3 จุดวิกฤต
เป็นจุดที่เรื่องดำเนินมาถึงตอนเข้มข้น เกิดการหักเหของเรื่องหรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่าจุดไคล์แม็ก พีคสุดๆ เช่น แฮรี่ต่อสู้กับคนที่คุณก็รู้ว่าใครซึ่งเป็นผู้นำศาสตร์มืด
7.4 ปัญหาเริ่มคลี่คลาย
เป็นการคลายสถานการณ์ตึงเครียดจากจุดวิกฤต เช่น แฮรี่สามารถเอาชนะผู้นำศาสตร์มืดได้
7.5 จุดจบของปัญหา
แก้ปมปัญหาเรื่องที่ผูกไว้ทั้งหมด จนเรื่องคลี่คลาย เช่น แฮรี่ได้รู้ความจริงทุกอย่างเกี่ยวกับพ่อแม่ของตนและได้เรียนรู้เติบโตจากปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าตอนจบอาจไม่จำเป็นต้องจบด้วยสุขนาฐกรรมเสมอไป บางเรื่องจบด้วยโศกนาฐกรรมก็มีเยอะเช่นกัน
อย่าลืมว่าโครงเรื่องดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ก่อนเขียนจึงต้องวางโครง วางรากฐานเรื่องให้ดีเสียก่อน อย่าพึ่งรีบร้อน ไม่เช่นนั้นเรื่องจะขาดมิติ ความเป็นเหตุเป็นผล จนกลายเป็นนิยายกลวงๆ ขาดเนื้อรายละเอียดไป มาเขียนโครงเรื่องกันเถอะ รับรองว่านิยายรุ่งแน่ค่ะ
แชร์เลย
42.9kอ่านประกาศ 2016-05-31T09:26:46.0770000+00:00ลงประกาศ
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น